บทความวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการควบคุมยาสูบตามกรอบขององค์การอนามัยโลกข้อ 5.3 ในประเทศไทย โดยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาจากเอกสาร และการสัมภาษณ์เชิงลึก แล้วนำข้อมูลนั้นมาสังเคราะห์เนื้อหาตามวัตถุประสงค์ และแสดงผลในรูปของการบรรยายพรรณนาความ
ผลการวิจัยพบว่า โครงสร้างการควบคุมอุตสาหกรรมยาสูบในประเทศไทยตามกรอบขององค์การอนามัยโลกข้อ 5.3 ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการควบคุมยาสูบ ดังนี้
1. พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอจะยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบพ.ศ.2535 และ พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 เพื่อ 1) ให้ทุกภาคส่วนต้องเน้นการสร้างการรับรู้ และเห็นความสำคัญของแนวปฏิบัติข้อ 5.3 เนื่องจากเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันการแทรกแซงนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบ จากธุรกิจและอุตสาหกรรมยาสูบ และ 2) เร่งรัดให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามข้อ 5.3 เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ หรือโอกาสในการแทรกแซงนโยบายของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมยาสูบได้
2. การเปลี่ยนโครงสร้างภาษีสรรพสามิต การประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ที่มีผลบังคับใช้ฯ เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2560 ซึ่งกรมสรรพสามิตได้ปรับโครงสร้างภาษีใหม่ ใช้วิธีการจัดเก็บภาษีแบบผสม ได้แก่ การเก็บภาษีทั้งตามมูลค่าและตามปริมาณรวมกัน โดยใช้ “ราคาขายปลีกแนะนำ” เป็นฐานคำนวณภาษีเนื่องจากผู้สูบลดการบริโภคลง
3. การปรับตัวของโรงงานยาสูบสู่การยาสูบแห่งประเทศไทย ให้พร้อมกับการเข้าสู่การเป็นนิติบุคคลใน ปีพ.ศ.2561 เพื่อให้มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานภาครัฐของกระทรวงการคลังในการกำกับดูแลกิจการยาสูบ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กำกับกระทรวงการคลัง ให้มีความชัดเจน ลดการมีผลประโยชน์ทับซ้อน และการบริหารงานในมิติการประกอบธุรกิจ ต้องแยกต่างหากชัดเจนกับการบริหารนโยบายด้านภาษี ภายหลังมีการแปรรูปองค์กรจากเดิมโรงงานยาสูบ มีสถานะเป็นนิติบุคคลเดียวกันกับกระทรวงการคลัง ได้แยกตัวออกไปเป็น การยาสูบแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกระทรวงการคลัง
|