บทคาม

การลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (Ending Poverty and Inequality through Education)

ทิพย์พาพร ตันติสุนทร

Abstract

           ความยากจนและความเหลื่อมล้ำมีอยู่ทั่วโลก และเป็นปัญหาใหญ่อันดับต้นของโลก ดังที่ UN ได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal) ไว้หลายเรื่องแต่เรื่องที่สำคัญสุดและเป็นอันดับแรกคือ การแก้ปัญหาความยากจน

     สำหรับประเทศไทยก็เผชิญกับปัญหานี้เป็นอันดับต้นเช่นกัน และยังเป็นปัญหาที่สั่งสมปมความยากจนและเหลื่อมล้ำ ดังที่พูดกันติดปากว่ารวยกระจุกจนกระจาย แม้ว่าประเทศไทยจะลงทุนด้านการศึกษาด้วยงบประมาณที่สูงแล้วก็ตาม

            และด้วยเหตุนี้องค์การ  UNESCO ก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างยิ่งและเห็นว่าการขจัดความยากจน หรือลดความยากจนถือเป็นเป้าหมายแรกของการศึกษา และต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพเท่านั้น จึงจะช่วยขจัดความยากจนนำไปสู่สุขภาพที่ดี สนับสนุนประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล และรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมไว้ได้

            การที่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ มีความสามารถในทางเศรษฐกิจ เป็นอิสระจากการพึ่งพา เพิ่มคุณภาพชีวิต ไม่เพียงเท่านั้น การศึกษาจะทำให้เขามีความรู้และข้อมูลที่เพียงพอในการเข้าไปมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาของสังคมในมิติต่างๆ รวมถึงเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ด้วย

การศึกษาที่มีคุณภาพให้คนทุกคนในสังคมเข้าถึงและได้รับโอกาส คือ การสร้างความเสมอภาคด้วยการสร้างโอกาส ไม่มีการเหลื่อมล้ำในทางการศึกษา และสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของแต่ละปัจเจก ไม่ให้โอกาสทางเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่เฉพาะคน เฉพาะกลุ่ม ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะสร้างการกระจุกตัวของการมีอำนาจทางการเมืองเฉพาะกลุ่มอีกด้วย

            การศึกษาจึงเป็นช่องทางการหยุดยั้งการถ่ายทอดความยากจน จากรุ่นพ่อ แม่ สู่รุ่นลูกหลานได้ และยังลดความไม่เท่าเทียมทางโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจอีกด้วย และการศึกษายังช่วยสร้างโอกาสที่เท่าเทียมในการพัฒนาระหว่างเมืองและระหว่างภูมิภาคอีกด้วย

แนวทางการจัดการศึกษาที่มุ่งขจัดความยากจนและลดการเหลื่อมล้ำจึงมีข้อเสนอดังนี้

1) การจัดการศึกษาบนหลักแห่งการกระทำที่ทัดเทียมกัน (Equalization System) หรือเสมอภาคกัน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคน หรือพื้นที่ที่ยังอ่อนแอ ล้าหลังให้ตั้งตัว ตั้งไข่ เพื่อคงอยู่และพัฒนาขึ้นมาให้ใกล้เคียงหรือทัดเทียมกับกลุ่มคนหรือพื้นที่อื่นได้

2) การศึกษาฟรีมีคุณภาพถ้วนหน้าสำหรับเด็กทุกกลุ่มทุกคน ต้องสร้างกลไกให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่ง่าย สะดวก มีความพร้อมที่จะอยู่ในระบบการศึกษาให้นานที่สุด เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ ความสามารถและวุฒิภาวะที่จะพึ่งตนเองและรับผิดชอบต่อสังคมได้

3) การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education) เป็นเครื่องมือปฏิรูปคนให้เป็นพลเมืองที่พร้อมจะรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการศึกษาที่สร้างพลเมืองให้ยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลักก่อนส่วนตน และมีความพร้อมและความสามารถที่เพียงพอในการมีส่วนร่วมทางสังคมและการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

4) การศึกษาที่ต้องตอบสนองการแก้ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในระดับภูมิภาคและท้องถิ่นเป็นสำคัญ เพราะเป็นที่รวมอยู่ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ

5) การศึกษาต้องมุ่งปฏิรูปครู เพื่อการผลิตสร้างครูทั้งระบบคือแนวคิด หลักสูตร และกระบวนการเรียนรู้ใหม่ เพื่อให้ครูเป็นต้นทางและตัวแบบของเด็กและเยาวชนของสังคมประชาธิปไตย

6) การพัฒนาการเรียนการสอนเสริมด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมแก่สภาพพื้นที่ของผู้เรียน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจะไม่เป็นข้ออ้างในการขาดแคลนทรัพยากรทางการศึกษาที่จะส่งถึงตัวเด็ก

การลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยคุณภาพเช่นนี้ ก็เพื่อสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพเป็นอิสระที่จะพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ และร่วมรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงต้องลงทุนสูงด้วยงบประมาณ แต่หากต้องลงแรงและสติปัญญา ด้วยเจตจำนงทางการเมืองร่วมด้วยเป็นสำคัญ เราจึงจะเห็นพลเมืองคุณภาพที่เป็นอิสระได้ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง



Keyword : ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การศึกษา

Download :  PDF Full Text