คำแนะนำสำหรับท่านผู้เขียนบทความ
- บทความวิจัย (Research Paper) คือ บทความที่เป็นผลงานต่อเนื่องจากงานวิจัย หรือสกัดมาจากงานวิจัย เป็นการประมวลสรุปกระบวนการวิจัยให้มีความกระชับและสั้นเพื่อการเผยแพร่ในวารสารวิชาการ โดยมีการกลั่นกรองและตรวจสอบเนื้อหาสาระความถูกต้องจากผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาการด้านนั้น ๆ นอกจากนี้แล้วจะต้องมีรูปแบบการนำเสนอตามเกณฑ์มาตรฐานของวารสารวิชาการอันประกอบด้วย บทนำ (Introduction) ทบทวนวรรณกรรมและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง วัตถุประสงค์ สมมติฐาน (ถ้ามี) นิยามศัพท์ (ถ้ามี) ขอบเขตการวิจัย วิธีดำเนินการวิจัย ผลการวิจัย ประโยชน์ที่ได้รับ สรุปและอภิปรายผล ข้อเสนอแนะ เชิงอรรถอ้างอิง(ถ้ามี) กิตติกรรมประกาศ (ถ้ามี)
- บทความวิชาการ (Academic Paper) คือ บทความที่มุ่งถ่ายทอดความรู้ ความคิด หรือผลงานการค้นพบ ลักษณะของบทความทางวิชาการเป็นผลงานที่เรียบเรียงขึ้นไว้อย่างเป็นระเบียบ ผู้เขียนอาจเป็นบุคคล สมาคมวิชาชีพ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ก็ได้ ลักษณะการนำเสนออาจมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของผู้เขียน อาจเป็นการแสดงความคิดเห็นทั่วไป วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ก็ได้โดยส่วนประกอบของบทความทางวิชาการ ประกอบด้วย บทนำหรือส่วนนำ ที่ผู้เขียนแสดงให้ผู้อ่านเห็นว่าทำไมจึงเกิดความสนใจในเรื่องนั้นๆ ส่วนสาระสำคัญของเรื่อง การจัดลำดับเนื้อหาสาระ ควรมีการจัดวางโครงสร้างและลำดับเนื้อหาสาระให้เหมาะสม รวมทั้งมีความต่อเนื่องกัน เพื่อให้เข้าใจได้โดยง่าย
- ส่วนบทสรุป ควรมีการทำประเด็นสำคัญ ๆ ของบทความนั้น ๆ มาเขียนรวมกันไว้อย่างสั้น ๆ ท้ายบท
- สำหรับส่วนอ้างอิง ที่อาจมีการเชื่อมโยงกับผลงานของผู้อื่น ก็ควรระบุให้ชัดเจนว่าเป็นงานของใคร ทำเมื่อไร และนำมาจากไหน เป็นการให้เกียรติเจ้าของผลงาน และประกาศให้ผู้อ่านรับรู้
- บทวิจารณ์หนังสือ (Book Review) คือ งานเขียนที่ต้องถ่ายทอดความคิดเห็น ต่องานเขียนชิ้นใดชิ้นหนึ่งหรือเล่มใดเล่มหนึ่ง โดยนำเสนอเนื้อหาสาระที่เป็นความรู้ มีการกล่าวถึงและวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ แสดงให้เห็นข้อดี ข้ออ่อนของงานชิ้นนั้นๆ พร้อมเสนอแนวทางแก้ไข โดยบทวิจารณ์หนังสือจะประกอบด้วยบทนำหรือประเด็นที่จะวิจารณ์ เนื้อหา บทสรุปและข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน
- บทความปริทัศน์ (Review Article) คือ บทความวิชาการที่มีการผสมผสานแนวคิด ทบทวนความก้าวหน้าของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และสรุปความรู้ในเรื่องนั้น ๆ เพื่อนำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ หรือองค์ความรู้ใหม่ เป็นการวิเคราะห์ สังเคราะห์องค์ความรู้อย่างทันสมัย แสดงความคิดเห็นในเชิงวิชาการและมีข้อวิจารณ์ที่ชี้ให้เห็นแนวโน้มที่ควรศึกษาและพัฒนาต่อไป
การจัดพิมพ์บทความ
จัดพิมพ์ 1 คอลัมน์ บนกระดาษขนาด A4 หน้าเดียวด้วย Microsoft Word for Windows หรือซอฟท์แวร์อื่นที่ใกล้เคียงกันพิมพ์ประมาณ 26 บรรทัด ต่อ 1 หน้า ใช้ฟอนท์ Angsana ขนาดของตัวอักษรเท่ากับ 16 พอยน์ และให้ใส่เลขกำกับหน้าทุกหน้าที่มุมบนด้านขวา ยกเว้นหน้าแรก ความยาวระหว่าง 10-20 หน้า
การส่งบทความ
วารสารใช้ระบบการจัดการวารสารแบบออนไลน์ ผู้เขียนสามารถลงทะเบียนเข้าสู่ระบบผ่านเว็บไซท์ของวารสาร และสามารถส่งบทความผ่านระบบพร้อมแนบหลักฐานการชำระเงินค่าตอบแทนผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4,000 บาท*เพื่อส่งบทความให้ผู้ทรงคุณวุฒิทำการประเมิน ผู้ทรงคุณวุฒิจะทำการประเมินบทความของท่านผ่านระบบของวารสารผลการประเมินจะแจ้งให้ท่านรับทราบผ่านระบบของวารสารภายในเวลา1เดือนหลังจากที่ได้รับบทความผลงานที่ผ่านการประเมินและแก้ไขตามคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิเรียบร้อยแล้ว ทางกองบรรณาธิการจะตรวจความถูกต้องของการใช้ภาษาและการเขียนรายการอ้างอิงหลังจากนั้นจะส่งกลับให้ผู้เขียนตรวจดูอีกครั้งให้ถูกต้องจึงจะนำลง ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ นวัตกรรมสังคม : Journal of Social Innovation วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
*การชำระเงินค่าตอบแทนผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ส่งบทความทำการชำระครั้งเดียวผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม บัญชีธนาคารกรุงเทพ เลขที่ 875-715933-3 ชื่อบัญชี นายอภิรัตน์ กังสดารพร และ นางสาว ชนัฐนันท์ ม่วงวิเชียร และ นางสาว ณัฐพร ไกรยวงศ์ หากบทความดังกล่าวไม่ผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เขียนไม่ต้องการแก้ไขบทความตามความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เขียนขอถอนการตีพิมพ์บทความเป็นเหตุให้บทความดังกล่าวไม่ได้รับการตีพิมพ์โดยทางวารสารจะไม่คืนเงินค่าตอบแทนผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวให้กับผู้เขียนแต่หากผู้เขียนต้องการนำบทความกลับไปแก้ไขแล้วนำบทความเรื่องเดิมกลับมาส่งเพื่อทำการประเมินใหม่ในภายหลังทางวารสารจะไม่มีการเก็บเงินซ้ำซ้อนกับผู้เขียนอีก