บทคาม

มุมมองต่อการพนันของสังคมไทย

รศ.นฤมิตร สอดศุข 

Abstract

สังคมไทยมีพื้นฐานการเล่นพนันมาตั้งแต่อดีตไม่ต่างไปจากสังคมประเทศ อื่นๆเพียงแต่เดิมทีอาจจะเป็นลักษณะแฝงหรือควบคู่ไปกับประเพณีการละเล่นพื้นบ้านบางชนิด อาทิ การเล่นตีไก่ กัดปลา หรือชนวัว เป็นต้น ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายคู่ขนานกัน ทั้งเพื่อความบันเทิงพักผ่อนหย่อนใจ หรือเป็นงานอดิเรกในยามว่างจากอาชีพการงานและการทำไร่ทำนาของชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม นอกจากจะต้องการความบันเทิงเพื่อความสนุกสนานแล้ว ยังอาจมีการพนันขันต่อกันแบบได้เสียผลประโยชน์ไปด้วยในตัวเป็นครั้งคราวตามเทศกาลหรืองานรื่นเริงต่างๆ แต่ก็คงมีคนจำนวนหนึ่งที่อาจหมกมุ่นถึงขั้นติดการพนันเพราะหวังร่ำรวยจากการเล่นพนัน จนเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาที่ทำให้สังคมรังเกียจการพนันกันต่อมา อาทิ ปัญหาหนี้สิน ปัญหาครอบครัว ปัญหาอาชญากรรม จวบจนกระทั่งนำไปสู่ปัญหาที่สลับซับซ้อนระดับสูงขึ้น เช่น ปัญหาผู้มีอิทธิพล ปัญหาคอร์รัปชันทางการเมือง เป็นต้น ประกอบกับสังคมไทยนับถือพุทธศาสนาจึงทำให้ชาวบ้านต่างมองกันว่าการพนันเป็นเรื่องก่อความเสียหายร้ายแรงและผิดศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเป็นหนทางแห่งความเสื่อมตามหลักศาสนา

ปัจจุบันสังคมไทยอาศัยพระราชบัญญัติการพนัน ปีพุทธศักราช 2478 เป็นกฎหมายหลักในการจัดการและควบคุมการเล่นการพนันด้วยการจำแนกประเภทการพนันไว้ 2 บัญชี คือ บัญชี ก. และบัญชี ข. ซึ่งประกอบด้วยรูปแบบการเล่นชนิดละ 28 รายการเท่านั้น โดยบัญชี ก. เป็นการกำหนดมาตรการควบคุมในลักษณะที่เป็นการห้ามมิให้อนุญาตจัดให้มีหรือเข้าเล่น และบัญชี ข. เป็นการเล่นที่สามารถอนุญาตจัดให้มีหรือเล่นได้ ทั้งนี้เว้นแต่รัฐบาลจะมีการตราพระราชกฤษฎีกาอนุญาตภายใต้บังคับเงื่อนไขใดๆ ให้มีการเล่นชนิดใดก็อนุญาตได้ (เจริญ คัมภีรภาพ, 2546 : 398) โดยที่กฎหมายการพนันฉบับปี พ.ศ.2478 ดังกล่าว ห้ามเล่นการพนันหลายชนิด นอกจากจะได้รับการอนุญาตชั่วคราวจากตำรวจออกให้ในโอกาสพิเศษเป็นระยะเวลาสั้นๆ โดยต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้มีการควบคุมอย่างเข้มงวดทั้งสถานที่และเวลา (รัตพงษ์ สอนสุภาพ, 2556)

อย่างไรก็ดี กฎหมายดังกล่าวมีความคลุมเครือใน 2 ประการหลักคือ ประการแรก กฎหมายมิได้ลงโทษการพนันว่าเป็นสิ่งเลวร้ายทั้งหมด เพราะอนุญาตให้เล่นการพนันบางประเภทได้ภายใต้เงื่อนไขกฎหมาย แต่จะลงโทษเฉพาะรายที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนประการที่สอง กลับปรากฏว่ากฎหมายไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และไม่สามารถบังคับใช้ได้ จนส่งผลให้มีการเล่นพนันกันอย่างกว้างขวาง กระทั่งมีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ตามมา (สังศิต พิริยะรังสรรค์, 2546 : 90 – 91; รัตพงษ์ สอนสุภาพ, 2556)

แม้ภาพโดยรวมของการพนันดังกล่าวจะดูล่อแหลมต่อการผิดกฎหมาย แต่ในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลไทยก็ประสงค์จะหารายได้จากธุรกิจการพนันมาใช้จ่ายในการบริหารประเทศ ดังนั้นจึงมีนโยบายจัดตั้งหน่วยสลากกินแบ่งในประเทศไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อปี พ.ศ.2378 ซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาจนปัจจุบันนับได้ 178 ปีแล้ว ทั้งนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ยุค คือ 1) ยุคสัมปทาน พ.ศ.2378 - 2416 2) ยุค ก่อนพระราชบัญญัติ พ.ศ.2417 - 2516 และ 3) ยุคพระราชบัญญัติ พ.ศ.2517 – ปัจจุบัน (สังศิต พิริยะรังสรรค์ รัตพงษ์ สอนสุภาพ และบุญสม เกษะประดิษฐ์, 2557)

การออกสลากกินแบ่งรัฐบาลของไทยที่ถือเป็นสิ่งถูกกฎหมายนั้น คนไทยทั่วไปยังมีทัศนคติค่อนข้างสับสนว่าเป็นเรื่องการเสี่ยงโชค หรือการพนันที่ถูกกฎหมายกันแน่ต่อกรณีดังกล่าวควรถือว่าการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลน่าจะเป็นการเสี่ยงโชคมากกว่าการพนันได้หรือไม่ เนื่องจากมิได้มีลักษณะเป็น “การพนันขันต่อ” เหมือนการเล่นการพนันโดยทั่วไป ดังวิเคราะห์ได้ว่าการซื้อล็อตเตอรี่มิได้มีการแข่งขันในลักษณะเป็นเกมส์ ที่มีการใช้เทคนิคกลยุทธ์หรือฝีไม้ลายมือเพื่อให้ได้ชัยชนะคู่แข่งขันหรือฝ่ายตรงกันข้าม ขณะเดียวกันก็ไม่มีการต่อรองว่าผู้ชนะจะได้รับผลตอบแทนจำนวนมากน้อยเพียงใด ตามที่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขกันไว้เป็นการล่วงหน้า
กระนั้นก็ตาม คนไทยจำนวนไม่น้อยก็ยังมีทัศนคติด้านลบต่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในหลายด้าน แม้ว่าสำนักงานสลากจะพยายามสร้างวิสัยทัศน์ว่ามีจุดมุ่งหมายทั้งเพื่อเสริมรายได้รัฐ พัฒนาสังคม และบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล ทั้งนี้ด้วยการกำหนดสัดส่วนรายได้หลัก 60 % จ่ายเป็นเงินค่าตอบแทนรางวัล สำหรับส่วนที่เหลือจากค่าประกอบการก็จะจัดสรรเพื่อช่วยเหลือสังคมด้านต่างๆ อาทิเช่น การสนับสนุนด้านการศึกษา การแพทย์ การกีฬา ศาสนา ยาเสพติด ผู้พิการ เป็นต้น
ประเด็นหลักที่คนไทยตั้งข้อสงสัยกับสำนักงานกองสลากก็เช่น การใช้วิธีการจำหน่าย “หวยบนดิน” เพื่อแก้ปัญหา “หวยใต้ดิน” ที่ผิดกฎหมายโดยผ่านระบบหวยออนไลน์จะสามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ และจะเป็นการเพิ่มอบายมุขขึ้นอีกช่องทางหนึ่งหรือไม่ รวมทั้งแนวคิดที่อาจจะเปิดบ่อนกาสิโนเสรีจะเหมาะสมกับสังคมไทยปัจจุบันหรือไม่เพียงใด และจะทำให้สามารถแก้ปัญหา “บ่อนเถื่อน” ได้มากน้อยเพียงใด เป็นต้น

ในแง่หลักการแล้ว มีเหตุผลหลายประการที่มีน้ำหนักสนับสนุนให้มีการพัฒนาธุรกิจการพนันผิดกฎหมายให้กลายเป็นธุรกิจถูกกฎหมาย โดยจะต้องออกแบบให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทและเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยให้มากที่สุด รวมทั้งมีผลกระทบข้างเคียงโดยเฉพาะกับภาคสังคมให้น้อยที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันได้มีการดำเนินธุรกิจการพนันผิดกฎหมายกันอย่างกว้างขวาง และทำให้รัฐบาลและสังคมไทยต้องเสียรายได้จากภาษีอากรที่ควรจะได้ไปเป็นจำนวนมาก ดังพิจารณาได้จากตัวเลขประมาณการณ์ที่ได้จากการศึกษาวิจัยของสังศิต พิริยะรังสรรค์ เกี่ยวกับเศรษฐกิจการพนันที่ผิดกฎหมายของไทยว่า คนไทยทั้งประเทศใช้จ่ายหวยใต้ดินสูงมาก อาทิ ตัวเลขในปี พ.ศ.2544 ประมาณว่าสูงถึง 542,000 ล้านบาท ขณะที่ใช้จ่ายในบ่อนการพนันในประเทศ ในปีเดียวกันประมาณ 541,000 - 826,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็คาดว่าคนไทยไปจ่ายในบ่อนการพนันต่างประเทศในปีเดียวกันประมาณ 71,000 - 84,000 ล้านบาทต่อปี (สังศิต พิริยะรังสรรค์, 2546 : 384 - 385)

นอกจากนั้น เมื่อคำนวณตัวเลขคาดการณ์เปรียบเทียบระหว่างเศรษฐกิจการพนันที่ผิดกฎหมายและที่ถูกกฎหมายโดยรวมในปี พ.ศ.2544 พบว่าในการพนันประเภทต่างๆ เรียงตามลำดับ 1 - 7 นั้น มีผู้นิยมเล่นการพนันผิดกฎหมายถึง 6 อันดับ มีเพียง อันดับที่ 4 ที่เป็นการพนันถูกกฎหมาย คือสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยมีรายละเอียดดังนี้ การพนันในบ่อน 113,956 ล้านบาท 2) หวยใต้ดิน 92,073 ล้านบาท 3) การพนันฟุตบอล 51,085 ล้านบาท 4) สลากกินแบ่งรัฐบาล 38,700 ล้านบาท 5) หวยหุ้น 16,156 ล้านบาท 6) หวยออมสิน 9,341 ล้านบาท และ 7) หวย ธกส. 3,471 ล้านบาท (สังศิต พิริยะรังสรรค์, 2546 : 386 - 387)

นอกจากผลกระทบที่มีต่อการขาดรายได้ทางเศรษฐกิจของรัฐแล้ว เศรษฐกิจการพนันผิดกฎหมายยังเป็นต้นเหตุของการค้ำจุนภาพส่วยตำรวจ ที่ส่งผลเสียต่อการเกิดระบอบตำรวจหรือรัฐตำรวจ (Police Regime or the Police State) ซึ่งเข้าไปมีอิทธิพลในระบบการเมืองและระบบราชการไทย รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมค้ำจุนระบอบประชาธิปไตยการพนัน (Casino Democracy) ทีมี่การนำเงินที่ได้รับจากเศรษฐกิจการพนันไปใช้ซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้งทุกระดับตั้งแต่หน่วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปจนถึงองค์กรรัฐสภาระดับชาติ จากนั้นก็จะนำไปสู่ปัญหาการถอนทุนคืนในรูปคอร์รัปชันในทุกระดับ อันเป็นอุปสรรคสำคัญของระบอบประชาธิปไตยของไทย (สังศิต พิริยะรังสรรค์, 2546 : 214 - 220, 2547: 132 - 136)

ดังนั้นจึงเป็นประเด็นน่าสนใจว่าหากสามารถดำเนินการให้ธุรกิจการพนันที่ผิดกฎหมายดังกล่าว อาทิ หวยใต้ดินและบ่อนการพนันกลายเป็นสิ่งถูกกฎหมายจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาและซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้งของไทยได้มากน้อยเพียงใด ด้วยทัศนะของคนไทยเรื่องการพนันดังกล่าว ปัจจุบันจึงเกิดภาวะที่ยันกันอยู่และทำอะไรไม่ได้ จนกระทั่งทำให้การพนันผิดกฎหมายยังดำเนินต่อไป และยิ่งควบคุมได้ยากมากขึ้นกลุ่มอิทธิพลต่างๆก็ยังได้รับผลประโยชน์จากการให้การคุ้มครองการพนันผิดกฎหมาย มากขึ้นทุกวัน การจะแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังจึงกระทำได้ยาก โดยเฉพาะนโยบายเรื่องอุตสาหกรรมการพนันมิใช่เรื่องที่จะหาข้อสรุปได้ง่าย และหากจะทำให้เป็นผลจะต้องได้รับแรงสนับสนุนจากสาธารณชนส่วนใหญ่ในสังคมไทยอย่างกว้างขวางเท่านั้น  



Keyword :

Download :  PDF Full Text