ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกระทำความผิดของเยาวชนในเขตจังหวัดภาคใต้ตอนบน
สิทธิกร ลือขจร และ สฤษดิ์ สืบพงษ์ศิริ
Abstract
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกระทำความผิดของเยาวชนในเขตจังหวัดภาคใต้ตอนบน 2) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาของการกระทำความผิดของเยาวชนในเขตจังหวัดภาคใต้ตอนบน และ3) นำเสนอรูปแบบแนวทางการป้องกันการกระทำความผิดของเยาวชนในเขตจังหวัดภาคใต้ตอนบน เป็นการวิจัยเชิงผสมผสาน (Mixed Methods Research) ได้แก่ การวิจัยเชิงปริมาณ โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นเยาวชนในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเขต 10 จังหวัดพังงา จำนวน 97 คน ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัย โดยใช้สถิติในการวิเคราะห์ ได้แก่ ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมติฐาน ใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-Way ANOVA) ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก โดยผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในเขตจังหวัดภาคใต้ตอนบน จำนวน 14 คน และเยาวชนในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 8 และเขต 10 จำนวน 8 คน ผลการศึกษาพบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกระทำความผิดของเยาวชนในเขตจังหวัดภาคใต้ตอนบน พบว่า เพศ ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ชุมชนที่อยู่อาศัยย่านที่มีการเสพหรือจำหน่ายยาเสพติด ลักษณะเชิงบุคลิกภาพคนใต้ตอนบน ด้านสภาวะแห่งจิตใจ/สภาวะทางอารมณ์และพฤติกรรม ด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์ต่อการกระทำผิดของเยาวชนในเขตจังหวัดภาคใต้ตอนบน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 สำหรับสถานการณ์การกระทำผิดของเยาวชนในเขตจังหวัดภาคใต้ตอนบน พบว่าปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษเป็นฐานความผิดพบมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย และความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ สำหรับแนวทางการป้องกันการกระทำความผิดของเยาวชนในเขตจังหวัดภาคใต้ตอนบน ควร 1) มีการป้องกันเชิงสังคม เช่น การมีส่วนร่วมของชุมชน การเสริมสร้างองค์ความรู้ จัดกิจกรรมและโครงการเชิงสร้างสรรค์ ปลูกฝังค่านิยมและทัศนคติที่ดีงาม การกำกับดูแลและติดตาม เป็นต้น 2) การป้องกันเชิงกฎหมาย 3) ส่งเสริมนโยบายและบทลงโทษ
Keyword : การกระทำความผิดของเยาวชน, จังหวัดภาคใต้ตอนบน
Download : PDF Full Text