บทบาทของการแพทย์แผนไทยในระบบสาธารณสุขไทย
พงษ์ศักดิ์ อวัยวานนท์ และ วรนารถ ดวงอุดม
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) วิเคราะห์บทบาทของการแพทย์แผนไทยในระบบสาธารณสุขไทยที่มีการผสมผสานทั้งบทบาทเสริมการแพทย์แผนปัจจุบันและบทบาทการแพทย์ทางเลือก 2) สังเคราะห์รูปแบบและแนวทางการพัฒนาบทบาทของการแพทย์แผนไทย ให้มีสัดส่วนการใช้ประโยชน์และมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในระบบสาธารณสุขไทย วิธีวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม การสังเกต การวิเคราะห์เอกสารและศึกษาเฉพาะกรณี โดยผู้ให้ข้อมูลสำคัญเป็นผู้บริหารสถานบริการแพทย์แผนไทยภาครัฐหลายระดับและภาคเอกชน ผู้รับบริการ รวมทั้งหมอพื้นบ้าน จำนวนรวม 24 คน พื้นที่วิจัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร นครปฐม พิษณุโลก ปราจีนบุรี และเพชรบุรี
ผลการวิจัยพบว่า 1) บทบาทการแพทย์แผนไทยในระบบสาธารณสุขไทย โดยบทบาทการผสมผสานการแพทย์แผนไทยเสริมกับการแพทย์แผนปัจจุบันมีอยู่ในสถานบริการของรัฐ ส่วนบทบาทการแพทย์ทางเลือก พบว่ามีในสถานพยาบาลเอกชน 2) รูปแบบและแนวทางการพัฒนาบทบาทของการแพทย์แผนไทยให้มีสัดส่วนการใช้ประโยชน์และมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในระบบสาธารณสุขไทย ผลวิจัยพบว่า มีปัญหาหลายด้านทั้งด้านการบริหารจัดการ ที่อำนาจการตัดสินใจเป็นของแพทย์แผนปัจจุบัน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ มีงบประมาณไม่เพียงพอ ขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางการแพทย์แผนไทย แนวทางเวชปฏิบัติทางการแพทย์แผนไทยยังไม่ครอบคลุมต่อปัญหาด้านสุขภาพของประเทศ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและสหวิชาชีพยังไม่เพียงพอนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นบทบาทเฉพาะสถานบริการของรัฐมากกว่าการส่งเสริมสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยในรูปแบบวิถีชุมชน(ภาคประชาสังคม/ประชาชนในพื้นที่) ทำให้เกิดความอ่อนแอต่อระบบสุขภาพภาคประชาชน และปัญหาการนำนโยบายไปฏิบัติที่ขึ้นอยู่กับแนวคิดและทัศนคติของผู้บริหาร ทำให้แพทย์แผนไทยภาครัฐยังไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนบทบาทได้มากเท่าที่ควร งานวิจัยยังพบแนวทางการพัฒนาบทบาทการแพทย์แผนไทยหลายด้าน เช่น (1) เพิ่มงบประมาณภาครัฐแก่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้สามารถขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ได้เพิ่มขึ้น (2) พัฒนาทักษะและเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางการแพทย์แผนไทยด้านต่างๆให้สามารถชี้นำทิศทางการพัฒนาบทบาทการแพทย์แผนไทยในระบบสาธารณสุขไทยได้ (3) ปรับการจัดสรรบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการ (4) เร่งเพิ่มทักษะและประสบการณ์ด้านเวชปฏิบัติแก่บุคลากรให้ครอบคลุมปัญหาด้านสุขภาพ (5) เร่งการสื่อสารและประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและสหวิชาชีพอื่น (6) เพิ่มมาตรการของรัฐในการส่งเสริมบทบาทการแพทย์แผนไทยของสถานบริการภาคเอกชนและหมอพื้นบ้าน
Keyword : การแพทย์เสริม, การแพทย์ทางเลือก
Download : PDF Full Text