พิธีกรรม เครื่องราง ความเชื่อไทย กับธุรกิจความเชื่อข้ามชาติ
พิมพ์ไหมทอง ศักดิพัตโภคิน และธัชกร ธิติลักษณ์
Abstract
บทความวิจัยนี้ศึกษา “พิธีกรรม เครื่องราง ความเชื่อไทย กับธุรกิจความเชื่อข้ามชาติ” ใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาทัศนคติของชาวต่างชาติเกี่ยวกับความเชื่อ 2) ศึกษาชนิดและรูปแบบธุรกิจความเชื่อของชาวต่างชาติ และ 3) ศึกษากระบวนการธุรกิจความเชื่อไทยข้ามชาติ โดยการวิเคราะห์เอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก จากกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวกับความเชื่อ 6 คน กลุ่มผู้บริโภคสินค้าที่เกี่ยวกับความเชื่อ 5 คน และกลุ่มผู้ดำเนินการจัดการหรือทำพิธีกรรม 5 คน
ผลการศึกษาพบว่าทัศนคติของชาวต่างชาติเกี่ยวกับธุรกิจความเชื่อข้ามชาติมี 2 ประเภท คือ 1) ทัศนคติเชิงบวก ซึ่งสะท้อนจากทัศนคติที่เชื่อว่า พิธีกรรม เครื่องราง วัตถุมงคล จะทำให้เกิดพลัง ป้องกันสิ่งที่ไม่ดี และจะทำให้ประสบผลสำเร็จในทุกด้าน 2) ทัศนคติเชิงลบ ที่เชื่อว่าพิธีกรรม ความเชื่อ วัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง เป็นเพียงวัตถุโบราณหรือของที่ระลึก และเป็นธุรกิจที่เสนอสินค้าและบริการเท่านั้น ขณะที่รูปแบบธุรกิจความเชื่อข้ามชาติ มี 2 ประเภทประกอบด้วย 1) ธุรกิจความเชื่อที่มีฐานหรือร้านอยู่ในต่างประเทศ เช่น การเปิดร้านในประเทศ การเป็นเอเยนต์ในการจัดจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวกับความเชื่อ และการเปิดสำนักหรือร้านในต่างประเทศเพื่อจัดทำพิธีกรรมในต่างประเทศ และ 2) ทำธุรกิจเกี่ยวกับความเชื่อข้ามชาติที่ทำในประเทศไทย เช่น การนำพาลูกค้าต่างประเทศไปทำพิธีกรรม การนำพาไปหาเช่าวัตถุมงคลเครื่องรางของขลัง ทั้งนี้ชนิดของสินค้าและบริการ แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ด้านของพิธีกรรม และด้านของวัตถุมงคลกับเครื่องรางของขลัง สำหรับกระบวนการธุรกิจความเชื่อข้ามชาติแบ่งเป็น 2 ด้านเช่นกัน คือ กระบวนการด้านพิธีกรรม และกระบวนการด้านเครื่องรางของขลัง โดยแต่ละขั้นตอนมีผู้เกี่ยวข้อง 3 กลุ่ม คือ ธุรกิจร้านค้า ไกด์หรือผู้ให้บริการชาวต่างชาติและอาจารย์ผู้ทำพิธีกรรม ซึ่งมีการทำงานเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกัน
Keyword : พิธีกรรม, เครื่องราง, ธุรกิจความเชื่อ, ธุรกิจความเชื่อข้ามชาติ
Download : PDF Full Text