บทคาม

การต่อยอดภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านสู่การพัฒนาสมุนไพรและชุมชน: กรณีศึกษามูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี

เบญจพร ชัยเนตรวานิช และ วรนารถ ดวงอุดม

Abstract

                การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) การต่อยอดภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านด้านตำรับยาสมุนไพรสู่การพัฒนาสมุนไพรและชุมชนของมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร 2) กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านของมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรควบคู่กับการพัฒนาการปลูกพืชสมุนไพรของชุมชนบ้านดงบัง จังหวัดปราจีนบุรี 3) ปัจจัยแห่งความสำเร็จของมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร 4) ผลลัพธ์ที่มีต่อการเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์ การขยายช่องทางการตลาดและการพัฒนาชุมชนบ้านดงบัง ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ แบบสัมภาษณ์เชิงลึก และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม คือเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน 13 คน เลือกแบบเจาะจง ผลการศึกษาพบว่า 1) การต่อยอดภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านด้านตำรับยาสมุนไพรสู่การพัฒนาสมุนไพรและชุมชนของมูลนิธิโรงพยาบาลอภัยภูเบศร เริ่มด้วยวิสัยทัศน์และปัญหาจากการรักษาที่ไม่ได้ผล จึงหาวิธีการแก้ไขโดยใช้ภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านจากการจัดการความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวตน และความรู้ชัดแจ้ง รวบรวมถ่ายทอดออกมาในรูปแบบการพัฒนายาจากภูมิปัญญาด้านสมุนไพร และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ยาที่มีความหลากหลาย ปลอดภัย ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นและยอมรับ ยอดขายจึงเพิ่มขึ้นทุกปี 2) ด้านกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านของมูลนิธิฯ ดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาการปลูกพืชสมุนไพรให้กับชุมชนบ้านดงบัง พบว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านของมูลนิธิฯ มีความแตกต่างจากภูมิปัญญาดั้งเดิม เพราะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาผสมผสาน เกิดรูปแบบผลิตภัณฑ์สมุนไพรใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนปัจจุบัน และกระบวนการพัฒนาสมุนไพรด้วยมาตรฐาน 5G (GMP) โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านดงบังสร้างมาตรฐานสองส่วน คือ การปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดี มูลนิธิฯ สร้างมาตรฐานสามส่วน การผลิตให้ได้มาตรฐานโรงงาน ห้องปฏิบัติการ และมาตรฐานคลินิกที่ดี (GCP) 3) ปัจจัยแห่งความสำเร็จ มูลนิธิฯพบปัญหาการขาดแคลนสมุนไพร จึงส่งเสริมและการพัฒนาการปลูกพืชสมุนไพรร่วมกับชุมชนบ้านดงบัง ในรูปแบบแปลงเกษตรอินทรีย์และพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรทุกระดับ ตั้งแต่ต้นน้ำคือ ปลูก เก็บ แปรรูป กลางน้ำ คือ การจัดหาวัตถุดิบสมุนไพร การผลิตภัณฑ์สมุนไพร และปลายน้ำ การขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่ผู้บริโภค รวมทั้งมีปัจจัยแห่งความสำเร็จ 6 ข้อ 1) กำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน เช่น ผลิตสมุนไพรไทยตามความต้องการของตลาด พัฒนาอุตสาหกรรมและตลาดสมุนไพรให้มีคุณภาพระดับสากล พัฒนายาสมุนไพรที่มีสรรพคุณยา ยึดนโยบายของภาครัฐ 2) ดำเนินธุรกิจในรูปแบบผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคม 3) สร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์  4) บริหารจัดการดี 5) วางกลยุทธ์การตลาดเพื่อสังคม 6) แก้ไขปัญหาและอุปสรรคอย่างเหมาะสม 4) ผลลัพธ์ที่มีต่อการเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์ เกิดคุณค่าและเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ การเพิ่มส่งเสริมการขายและช่องทางการให้บริการ เกิดผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจและสังคม เกิดแนวคิดและนวัตกรรมการผลิตสมุนไพรไทยและเกิดการพัฒนาชุมชนบ้านดงบังทั้งด้านเศรษฐกิจ คือ มีรายได้ที่มั่นคง คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเกิดการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน แนวทางการต่อยอดภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านสู่การพัฒนาสมุนไพร ควรพัฒนาตั้งแต่ระบบการปลูกพืชสมุนไพรและกระบวนการผลิตยาสมุนไพรให้มีมาตรฐานตามหลักเภสัชอุตสาหกรรม ตลอดจนกระบวนการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรสู่ผู้บริโภคอย่างครบวงจร


Keyword : การต่อยอดภูมิปัญญา, การพัฒนา, สมุนไพร, ชุมชน

Download :  PDF Full Text