บทคาม

ความเป็นไปได้ในการควบคุมผู้กระทำความผิดโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

จอมเดช ตรีเมฆ

Abstract

           งานวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาแนวคิด แนวปฏิบัติ ที่เป็นเลิศ (Best Practice) รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินการหันเหผู้กระทำผิดออกจากกระบวนการยุติธรรมในต่างประเทศ 2) เพื่อศึกษาทัศนคติของประชาชนต่อการควบคุมผู้กระทำความผิดโดยใช้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ3) เพื่อนำเสนอแนวทางในการควบคุมผู้กระทำความผิดโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงยุติธรรม และกระทรวงแรงงาน เป็นการศึกษาวิจัยผสมผสาน (Mixed Method) เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่านการค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารวิชาการและการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลหลักแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 2 ท่าน รวม 8 ท่าน ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผู้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาชญาวิทยา และกฎหมายกับกระบวนการยุติธรรม กลุ่มที่ 2 ผู้มีความรู้ความเข้าใจในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับคดียาเสพติด กลุ่มที่ 3 ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในวัยแรงงานและเคยถูกควบคุมโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) และกลุ่มที่ ผู้ประกอบการหรือผู้บริหารธุรกิจอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative research) ทั้งหมด 1,240 ตัวอย่าง จากกลุ่มตัวอย่างทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา  

ผลการวิจัยพบว่า ในกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และ สิงคโปร์ ทางเลือกของการลงโทษเรียกว่า มาตรการลงโทษระดับกลาง” (Intermediate Punishment) ซึ่งเป็นมาตรการลงโทษผู้กระทำผิดที่อยู่ กึ่งกลางระหว่างการจําคุกปกติและการคุมประพฤติ โดยผู้กระทำผิดจะถูกคุมประพฤติอย่างเข้มงวด กว่าปกติเพราะถือว่ายังมีโทษอยู่ แต่โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดจะเป็นโทษที่ไม่รุนแรงเหมือนการจําคุก โดยมีลักษณะการลงโทษเช่น การทำงานบริการเพื่อสังคม (Community Service) มาตรการควบคุมสอดส่องแบบเข้มหรือการคุมประพฤติแบบเข้ม (Intensive Supervision Probation) การติดเครื่องมือติดตามตัว (Electronic Monitoring) การควบคุมตัวในที่พักอาศัย (Home Incarceration/House Arrest) การคุมขังหรือจํากัดบริเวณผู้ต้องโทษใน ความผิดไม่ร้ายแรงไว้ในสถานที่ซึ่งไม่ใช้เรือนจำ (House Arrest with Electronic Monitoring) และศูนย์ควบคุมในชุมชน (Residential community correction) เป็นต้น ผลการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นต่อนโยบายกรณีรัฐจะใช้การควบคุมผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ค้ายาเสพติดรายย่อย (ยาบ้าเฮโรอีนและยาเสพติดอื่นน้อยกว่า 20 กรัม) โดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และให้มีการจ้างงานตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำตามปกติ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 44.11 หรือ 547 คน เห็นด้วยต่อนโยบายดังกล่าว แบ่งออกเป็นเห็นด้วยอย่างยิ่ง 130 คน และ เห็นด้วย 417 คน โดยมีประชาชนจำนวน 448 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 36.13 ของผู้ให้ข้อมูลไม่มีความเห็นต่อนโยบายดังกล่าว และมีประชาชนจำนวนร้อยละ 19.76 เท่านั้น (245 คน) ที่ไม่เห็นด้วยต่อนโยบาย แบ่งออกเป็นผู้ไม่เห็นด้วย 172 คน และ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 73 คน สำหรับแนวทางในการควบคุมผู้กระทำความผิดโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ต่อกระทรวงยุติธรรม และกระทรวงแรงงาน มีข้อเสนอทั้งสิ้น 4 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 ผู้กระทำผิดไม่ต้องเข้าเรือนจำ โดยให้ศาลสั่งให้ผู้กระทำความผิดจำคุกในสถานที่อื่นคือให้ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งแนวทางนี้จะต้องมีการแก้ไขประมวลประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎกระทรวง แนวทางที่ 2 ให้ผู้กระทำผิดที่รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของโทษที่ได้รับ ออกไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแทนการจำคุกโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM)  แนวทางนี้สามารถกระทำได้ง่ายกว่าแนวทางที่ 1 เนื่องจากไม่ต้องมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยกระทำได้เพียงเสนอให้กระทรวงยุติธรรมแก้ไข “กฎกระทรวงกำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขังจำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหาจำเลย หรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ. 2552” สำหรับข้อจำกัดที่เป็นภาระต่อเจ้าของกิจการโรงงานเท่านั้น แนวทางที่ 3 สานต่อโครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ตามที่ได้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ (นำร่อง) ที่เรือนจำชั่วคราวบ้านบึงถือ จังหวัดชลบุรี ไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 และแนวทางที่ 4 การนำผู้ต้องขังออกไปทำงานแบบไปเช้าเย็นกลับ โดยมีข้อเสนอให้สามารถเพิ่มจำนวนผู้คุมต่อผู้ต้องขังออกไปทำงานแบบไปเช้าเย็นกลับจากเดิมที่ใช้ผู้คุม 1 คนต่อผู้ต้องขัง 20 คน เป็นผู้คุม 1 ต่อผู้ต้องขัง 50 คนโดยให้ผู้ต้องขังติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ระหว่างทำงานเพื่อป้องกันการหลบหนี



Keyword : กระบวนการยุติธรรมทางอาญา, กระบวนการยุติธรรมทางเลือก, เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก,อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว, ยาเสพติด

Download :  PDF Full Text