การพัฒนาจิตสํานึกสาธารณะของนักศึกษาผ่านการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ชุมชน : กรณีโครงการคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่น
สุนี ไชยรส
Abstract
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผลการวิจัยสามารถสะท้อนผลที่เกิดขึ้นจากการดําเนินกิจกรรมการลงพื้นที่ปฏิบัติจริง ในการเรียนรู้และกระบวนการพัฒนาจิตสํานึกสาธารณะ เพื่อให้ทราบปัจจัยผลักดันต่างๆ และประเมินผลกระทบซึ่งกันและกันในการดําเนินกิจกรรมเรียนรู้ของนักศึกษาผ่านประสบการณ์เชิงชุมชนในพื้นที่ปฏิบัติจริง และเพื่อสร้างองค์ความรู้ผ่าน ประสบการณ์ตรงที่เป็นประโยชน์ในเชิงวิชาการ และเพื่อพัฒนาแนวคิดในการจัดกระบวนการเรียนการสอนของวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมต่อไป
งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่เน้นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม คือ การศึกษาปรากฏการณ์ในภาพรวม โดยผู้วิจัยมีส่วนร่วมในกิจกรรมและสังเกตการณ์อย่างเป็นธรรมชาติ ให้ความสําคัญและเคารพข้อมูลปัจเจกแต่ละคน ศึกษาจากเรื่องเล่าและการถอดบทเรียนของแต่ละคน โดยยึดหลักแลกเปลี่ยนอิสระเสรี มีส่วนร่วม และหลักเท่าเทียม สร้างความไว้วางใจ ใช้คําถามแบบปลายเปิดให้ผู้ถูกสัมภาษณ์รู้สึกเหมือนเป็นการสนทนาทั่วไป เพื่อทําให้ข้อมูลถูกพูด ออกมาอย่างมีความหมาย ผลการวิจัยพบว่า นักศึกษาได้มีกระบวนการเรียนรู้ด้วยการลงมือทําเองผ่านประสบการณ์ โครงการคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่นของวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ที่มีปัญหาสิทธิที่สําคัญพื้นฐานในเรื่องสัญชาติอันนําไปสู่การไร้สิทธิใดๆ ที่กระทบต่อผู้คน จํานวนมากมายาวนานและยังแก้ไขปัญหาล่าช้า ทําให้นักศึกษามีประสบการณ์การเรียนรู้ต่อปัญหา โครงสร้างของสังคมชัดเจนขึ้นและได้เสริมสร้างจิตสํานึกสาธารณะ เนื่องจากโครงการฯ นี้เป็น กิจกรรมต่อเนื่องที่ต้องการจิตอาสาที่มุ่งมั่น รับผิดชอบ เสียสละเวลา ทํางานหนัก ซึ่งมีนักศึกษาอาสาเข้าร่วมจํานวนมาก
ข้อค้นพบนําไปสู่ข้อเสนอแนะที่สําคัญต่อวิทยาลัยฯ และมหาวิทยาลัยฯ คือ (1) การสนับสนุนโครงการฯนี้ ต่อเนื่อง และเพิ่มเติมโครงการอื่นๆ ที่ให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์เชิงชุมชนมากยิ่งขึ้น โดยให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมที่นักศึกษาได้ร่วมวางแผนและรับผิดชอบงาน รวมทั้งมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยฯพัฒนากลไกการดําเนินงานและงบประมาณทางสังคมอย่างมี แผนงานชัดเจนและต่อเนื่อง (2) ปรับปรุงหลักสูตรที่เชื่อมโยงกิจกรรมเชิงชุมชนให้เป็นส่วนหนึ่ง ในกระบวนการเรียนการสอน เช่น การเปิดวิชาเลือก 6 หน่วยกิตในภาคฤดูร้อนเพื่อเป็นทางเลือกให้ ไปเรียนรู้ประสบการณ์เชิงชุมชน การให้ทางเลือกฝึกงานแก่นักศึกษาตั้งแต่ปีที่ 2 และอาจเลือกฝึก ได้ 2 ครั้งๆ ละ 2 เดือน เพื่อค้นพบความสนใจที่ชัดเจนของตนเอง (3) การให้ทุนวิจัยเชิงปฏิบัติการ ในชั้นเรียนภายใต้เงื่อนไขการพัฒนาการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน และนักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วม ในกระบวนการวิจัย เพื่อสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนให้อาจารย์สร้างผลงานวิชาการบริการสังคม และเพิ่มการจัดการเรียนการสอนที่ผสมผสานกิจกรรมร่วมกับชุมชน (4) การจัดให้มี "ทุนนัก กิจกรรมทางสังคม" สําหรับนักเรียนที่มาศึกษาต่อมหาวิทยาลัยรังสิต นอกจากนี้มีข้อเสนอเพื่อการวิจัยต่อไปในอนาคต ต่อปรัชญาการศึกษาที่จะพัฒนาเปลี่ยนแปลงหลักคิด ระบบการเรียนการสอน เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้ที่ออกนอกกรอบเดิม และมีทางเลือกใหม่ๆ ในการพัฒนานักศึกษา เพื่อให้เป็นคนที่มีคุณค่าของสังคม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีจิตสํานึกสาธารณะต่อสังคมโดยรวม
Keyword : จิตสํานึกสาธารณะ, กิจกรรมจิตอาสาของนักศึกษา, ประสบการณ์เชิงชุมชน, การปฏิรูป การศึกษา, การคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่น
Download : PDF Full Text